ประเพณีตักบาตรดอกไม้      

ความเป็นมาของประเพณีตักบาตรดอกไม้ เกิดตามความเชื่อของชาวพุทธ การตักบาตรดอกไม้เป็นการสร้างอานิสงส์ที่สูงส่งอย่างยิ่ง โดยปรากฏตามพุทธตำนานว่า พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งกรุงราชคฤห์ ทรงโปรดปรานดอกมะลิมาก ในแต่ละวันจะรับสั่งให้นายมาลาการนำดอกมะลิสดมาถวายถึง วันละ 8 กำมือ วันหนึ่งขณะที่นายมาลาการกำลังเก็บดอกมะลิ ได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์อีกจำนวนหนึ่งเสด็จออกบิณฑบาตร นายมาลาการสังเกตเห็นพรรณรังสีฉายประกายรอบๆ พระวรกาย ทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาพระพุทธองค์อย่างยิ่ง นายมาลาการตัดสินใจนำดอกมะลิที่มีไปถวายแด่พระพุทธเจ้า พร้อมกันนั้นก็ตั้งจิตอธิษฐานว่าข้าวของทุกสิ่งที่พระเจ้าพิมพิสารทรงมอบให้เพียงเพื่อยังชีพในภพนี้เท่านั้น แต่การนำดอกไม้ถวายบูชาแก่พระพุทธองค์ สร้างอานิสงส์ได้ทั้งภพนี้และภพหน้า หากถูกประหารชีวิตเพราะไม่ได้ถวายดอกมะลิก็ยินยอม ครั้นภรรยานายมาลาทราบความ ก็เกรงกลัวว่าจะต้องโทษที่สามีไม่ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้าพิมพิสาร ก็หลบหนีออกจากบ้านไป แต่หลังจากที่พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ กลับพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก และได้ปูนบำเหน็จรางวัล ความดีความชอบแก่นายมาลาการ นับแต่นั้นมาชีวิตของนายมาลาการก็อยู่อย่างมีความสุข

ชาวอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ได้ยึดถือประเพณีตักบาตรดอกไม้เป็นประเพณีสำคัญ ที่อยู่คู่กับวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารมาช้านาน และปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นประจำทุกปี โดยกำหนดเอาวันเข้าพรรษาคือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปีเป็นวันประเพณีตักบาตรดอกไม้ ในวันนั้น หลังจากที่พระภิกษุสงฆ์เดินรับบิณฑบาตรจากพุทธศาสนิกชนแล้ว จะนำดอกไม้ไปสักการะ “รอยพระพุทธบาท” พระเจดีย์จุฬามณี อันเป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วจำลองขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนำไปสักการะพระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ ซึ่งชาวพุทธถือว่าเป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ระหว่างที่พระภิกษุเดินลงจากพระมณฑปนั้น พุทธศาสนิกชนก็จะนำเอาน้ำสะอาดมาล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งถือว่าน้ำที่ได้ชำระล้างเท้าให้พระภิกษุสงฆ์นั้นเสมือนหนึ่งได้ชำระล้างบาปของตนด้วย
ระหว่างวันเข้าพรรษาจะมีดอกไม้สีเหลืองชนิดหนึ่งขึ้นตามไหล่เขาโพธิ์ลังกาหรือเขา สุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุใกล้ๆ กับรอยพระพุทธบาท และเป็นดอกไม้ที่นิยมนำมาจัดเป็นช่อใส่บาตรดอกไม้ในวันเข้าพรรษา นอกจากจะออกดอกในช่วงวันเข้าพรรษาแล้ว ใบประดับที่ทั่วไปมักเข้าใจว่าเป็นกีบดอกจะมีสีขาวตรงกับสีของพุทธศาสนาและดอกที่มีสีเหลือง ซึ่งตรงกับสีของพระสงฆ์อีกด้วย ชาวบ้านจึงเรียกชื่อดอกไม้ชนิดนี้ว่า "ดอกเข้าพรรษา"

p5 pic6 pic5

ดอกเข้าพรรษา    

ต้นเข้าพรรษาที่ออกดอกเข้าพรรษาในท้องถิ่นอื่น ๆ จะนิยมเรียกไม้ชนิดนี้ว่า “หงส์เหิน” ตามลักษณะของรูปร่างของดอก เพราะดอกและเกสรจะมีลักษณะเหมือนตัวหงส์ กำลังจะบิน มีลีลาสง่างาม มีกลีบประดับเรียงตามช่อดอก นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น กล้วยจ๊ะก่า (ตาก) กล้วยจ๊ะก่าหลวง (ลำพูน) กล้วยเครือคำ (เชียงใหม่) ก้ามปู (พิษณุโลก) ขมิ้นผี หรือกระทือลิง (ภาคกลาง) ว่านดอกเหลือง (เลย) และดอกเข้าพรรษา (สระบุรี)

           ดอกเข้าพรรษาเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ขิง อยู่ในสกุล Globba sp. พืชในสกุลนี้แต่ละชนิดจะมีกลีบประดับขนาดใหญ่สีสันสวยงามมีตั้งแต่ขาว ชมพู ม่วง เหลือง ดอกจะบานในช่วงพฤษภาคมจนถึงกรกฎาคม ในประเทศไทยมีรายงานว่าพบพืชในสกุลนี้จำนวน 40 ชนิด
        ดอกเข้าพรรษาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าเขตร้อน เป็นไม้พื้นล่างที่พบตามป่าโปร่งทั่วไป พืชชนิดนี้มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดินมีรากสะสมอาหารลักษณะอวบน้ำ คล้ายกระชายเรียงอยู่รอบหัว ส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือดินคือส่วนของกาบใบที่อัดกันแน่นทำหน้าที่เป็นต้นเทียมเหนือดิน ใบเป็นใบเดี่ยวลักษณะเรียวยาว รูปใบหอกคล้ายใบกระชาย แต่มีขนาดเล็กกว่าออกเรียงสลับซ้ายขวาเป็นสองแถวในระนาบเดียวกัน ดอกออกเป็นช่อซึ่งแทงออกมาจากยอดของลำต้นเทียม ช่อจะโค้ง และห้อยตัวลงอย่างอ่อนช้อยสวยงาม มีก้านดอกย่อยเรียงอยู่โดยรอบ ประกอบด้วยดอกจริง 1-3 ดอกมีสีเหลืองสดใส แต่จะมีกลีบประดับ (bract)ที่แตกต่างกันหลายรูปทรง และหลายสี

........................................................................................................................................................................
             

 

 

                          

 

p1
p3